Skip to main content

สำนักงานแรงงาน จังหวัดราชบุรี

กระทรวงแรงงาน เยี่ยมผู้เข้าร่วมจ้างงานโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ปลื้ม!!! เฟสแรก ชาวบ้านได้อาชีพด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่

pll_content_description

วันพฤหัสบดีที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๓
 
          รองปลัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับผู้เข้าร่วมการจ้างงานในโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด – ๑๙ ปลื้มใจ ชาวบ้านนำความรู้จากเกษตรทฤษฎีใหม่ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ หลังจากร่วมโครงการในระยะที่ ๑ ขณะที่หลายคนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการต่อในระยะที่ ๒ ณ ฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง บ้านบ่อหวี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี โดยนายภาณุวัฒน์ เพ็งแป้น แรงงานจังหวัดราชบุรี ให้การต้อนรับ
 
          นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับผู้เข้าร่วมการจ้างงานในโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด – ๑๙ หลังเสร็จสิ้นโครงการในระยะที่ ๑ ณ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (บ้านบ่อหวี) หมู่ที่ ๔ ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทานพื้นที่ฟาร์มตัวอย่างให้ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกิจกรรมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ตาม “โครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด – ๑๙” โดยกล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ (๖ ส.ค.๖๓) เพื่อพบปะพูดคุยกับผู้เข้าร่วมโครงการภายหลังเสร็จสิ้นโครงการในระยะที่ ๑ ที่กระทรวงแรงงานรับผิดชอบในการจ้างงานว่าผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละคนได้นำความรู้ผลที่ได้รับจากวิทยากรที่ไดสอนด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพที่บ้านของตนเอง ครอบครัว และขยายผลในชุมชนอย่างไรบ้าง
 
          นางเธียรรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมของโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด -๑๙ ทั่วประเทศศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ตาม “โครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด – ๑๙”เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนรายได้ของประชาชนช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ (Covid -๑๙) โดยมีการจ้างงานปรับปรุงพื้นที่ ขุดลอกคูคลอง การปลูกผัก ทำปุ๋ย เพื่อทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่ ๑๗ จังหวัด ๓๐ ฟาร์มตัวอย่าง ระยะเวลา ๖๐ วัน ภายใต้งบประมาณ ๑๙.๘ ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน ๑,๑๐๑ คน ในส่วนของจังหวัดราชบุรีมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในระยะที่ ๒ จำนวน ๔๗ คน ในจำนวนนี้เคยสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในระยะที่ ๑ มาแล้วจำนวน ๓๒ คน
  
          สายบัว บุญกล้า หรือ บัว อายุ ๓๕ ปี เดิมมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ได้รับผลกระทบจากโควิด -๑๙ เลยได้มาสมัครเข้าร่วมโครงการฟาร์มตัวอย่างมาตั้งแต่ระยะแรก และสมัครต่อในระยะที่ ๒ ซึ่งได้รับความรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ มีวิทยากรมาสอนตั้งแต่การปรับปรุงดิน การปลูกผักสวนครัวโดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพของตัวเราเองและสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ ยังได้ทำกินเองในครอบครัว ลดรายจ่าย ซึ่งเมื่อมาทำด้วยตนเอง รู้สึกว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิด อยากขอบคุณแม่หลวงของแผ่นดิน ที่ให้โอกาสชาวบ้านได้มีความรู้ มีรายได้ นำไปประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน
  
          ลัดดาวัล ทุ้บะ หรือ วัล อายุ ๔๕ ปี เดิมเคยทำงานเป็นแม่บ้านรีสอร์ท จากผลกระทบโควิด-๑๙ จึงสมัครเข้าร่วมโครงการฟาร์มตัวอย่างตั้งแต่ระยะที่ ๑ และต่อในระยะที่ ๒ และคิดว่าจะต่อในระยะที่ ๓ อนาคตคิดว่าจะนำความรู้ไปต่อยอดในการรวมกลุ่มในชุมชนทำเค้กกล้วยหอม เพราะที่ฟาร์มได้สอนให้ทำกล้วยม้วน เค้กกล้วยน้ำว้า ทำน้ำยาอเนกประสงค์ และสบู่ที่จากสมุนไพร
  
          อำไพ ทรงกฤษณ์ หรือ น้ำ อายุ ๓๓ ปี เดิมเคยเป็นลูกจ้างโฮมสเตย์ และทำสวนผลไม้มาก่อน จากพิษโควิด-๑๙ ได้มาสมัครเข้าร่วมโครงการฟาร์ม ได้นำความรู้ไปทำต่อที่บ้านมีที่ดินอยู่เกือบไร่ คิดว่าจะกลับไปปลูกกล้วย ผักสวนครัว เช่น ข่า ตะไคร้ พริก มะเขือ ซึ่งปัจจุบันก็เลี้ยงไก่ชนอยู่แล้ว และจะเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มเติม เพราะได้สั่งพันธุ์ไก่ไข่จากกรมปศุสัตว์แล้ว รู้สึกดีใจที่ได้มาทำงานที่ฟาร์ม ขอบคุณแม่หลวงของแผ่นดินที่ทำให้มีโครงการดีๆ ช่วยส่งเสริมอาชีพ ให้ชาวบ้านมีงานทำ มีกินมีใช้
  
          “กระทรวงแรงงาน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีพระราชทานพื้นที่ในฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากจะได้งานทำ มีอาชีพ ลดรายจ่าย มีรายได้แล้วสามารถนำความรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวต่อไป”
 
นางเธียรรัตน์ กล่าวในท้ายสุด
TOP